BOEING 377 Startocruiser - The Last Boeing Propliner
BOEING 377 Startocruiser
Photo From Boeing
สมัยนี้หากให้นึกถึงเครื่องบิน 2 ชั้นและมีความหรูหราสะดวกสบายในการเดินทาง หลายๆคนอาจจะนึกถึง BOEING 747 หรือไม่ก็ AIRBUS A380 ซึ่งก็เป็นเรื่องแน่นอน แต่หากย้อนเวลากลับไปในสมัยที่การบินได้เริ่มต้นมาสักไม่กี่สิบปีก็จะพบว่า มีเครื่องบินรูปทรงน่าเกลียดก็ไม่ใช่ จะสวยก็ไม่เชิง มีนามว่า BOEING 377 Startocruiser ซึ่งในสมัยนั้นเป็นเครื่องบินที่เรียกได้ว่าทั้งล้ำสมัย หรูหรา สะดวกสบาย และบินได้รวดเร็วอีกด้วย
ต้นกำเนิดของ BOEING 377 Startocruiser นั้นจะเกิดขึ้นมาไมได้หาก ไม่มีสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเทคโนโลยีหลายๆอย่างได้พัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงสงคราม (เช่น เรดาร์ ซึ่งพัฒนาเพื่อตรวจจับเครื่องบินข้าศึก, จรวด V1 ของเยอรมันที่ได้พัฒนาให้ยิงจากเยอรมันไปโจมตีกรุงลอนดอน, ระบบ Autopilot ซึ่งนำร่องจรวด V1 ให้ไปโจมตีกรุงลอนดอนได้อย่างแม่นยำ และที่สำคัญเครื่องบินเจ็ตลำแรกของโลกก็ได้ถือกำเนิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นกัน) หลังจากสงครามโลกสงบลงแล้ว BOEING 377 ก็ได้รับอานิสงน์จากการที่ BOEING ได้ออกแบบเครื่องบินทิ้งระเบิด B-17, B-25, B-50 เป็นต้น ซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลและเพดานบินสูง
เครื่องบินทิ้งระเบิด B-50 ต้นแบบของ BOEING 377 Stratocruiser
BOEING ได้นำเอาเครื่องทิ้งระเบิด B-50 มาขยายชั้นบนและล่างทำให้มีขนาดใหญ่และยาวกว่าเมื่อเทียบกับ DOUGLAS DC-6 หรือ LOCKHEED Constellation แต่ใช้เครื่องยนต์ตัวเดิม คือ Pratt & Whitney R-4360 Wasp ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ลูกสูบที่มีกำลังมากถึง 3,500 แรงม้า ด้วยกระบอกสูบถึง 28 กระบอก!! และยังได้ติดตั้งตัว Supercharger และ Turbocharger เข้ามาเพิ่มเพื่อชดเชยปริมาณอากาศที่เบาบางลงเมื่อบินสูงขึ้นไป และสามารถบินหลบสภาพอากาศที่แปรปรวนในความสูงต่ำๆได้ ทำให้ BOEING 377 บินได้สูงกว่าเครื่องบินรุ่นอื่นๆในสมัยนั้น และนี่เองคือที่มาของคำว่า Startocruiser ทำให้สามารถไต่ได้ถึงความสูงราวๆ 32,000 ฟุต ซึ่งต่ำกว่าเครื่องบินเจ็ตสมัยนี้เพียงเล็กน้อย แต่สูงกว่าซึ่งสูงกว่า DOUGLAS DC-6 ที่เป็นคู่แข่งที่บินได้สูงสุดราวๆ 25,000 ฟุต เท่านั้นเอง
นอกจากนี้ Boeing 377 ยังเป็นเครื่องบินลำแรกๆที่ได้ติดตั้ง APU : Auxiliary Power Unit ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานสำรองให้เครื่องบินเวลาที่ไม่ได้ติดเครื่องยนต์ โดยสามารถจ่ายไฟฟ้าให้เครื่องได้จนถึงความสูง 20,000 ฟุต ซึ่งต่างกับ APU ของ Boeing 727 ที่ไม่สามารถใช้งานในอากาศได้
เครื่องยนต์ที่ติดตั้งใน BOEING 377 Pratt & Whitney R-4360 Wasp
ภาพเปรียบเทียบระหว่าง LOCKHEED Constellation และ BOEING 377
ภายในห้องลูกเรือของ BOEING 377 จะมีลูกเรืออยู่อย่างน้อย 4 ตำแหน่งได้แก่ Pilot, Co-Pilot, Flight Engineer, Navigator โดย Pilot กับ Co-pilot จะทำหน้าที่ควบคุมเครื่องบิน ส่วน Flight Engineer จะควบคุมระบบต่างๆในเครื่องบินเช่น ระบบไฟฟ้า, ระบบปรับอากาศ และอื่นๆ สุดท้าย Navigator เป็นผู้นำร่องเครื่องบิน ซึ่งในสมัยก่อนการนำร่องยังไม่ทันสมัยมากและในบางครั้งต้องใช้ Sextant ช่วยประกอบในการนำร่องเครื่องบินบินผ่านกลางมหาสมุทร
ถึงแม้ว่าจะใช้ลูกเรือถึง 4 คนแต่ BOEING 377 ก็เป็นเครื่องบินที่มีระบบอัตโนมัติ มากมาย เช่นระบบ Autopilot ที่ช่วยควบคุมเครื่องบินแทนนักบิน ถึงแม้ว่าในสมัยนั้นฟังก์ชั่นของ Autopilot อาจจะไม่สะดวกสบายเหมือนสมัยนี้ก็ตาม นอกจากนี้ยังมีระบบควบคุมอัตราส่วนน้ำมันกับอากาศที่เรียกกันว่า Mixture แบบอัตโตโนมัติ ซึ่งในสมัยนั้นเครื่องบินแทบทุกลำจะต้องปรับเองด้วยมือ โดยนักบินสามารถเลือกได้ว่าจะปรับอัตราส่วนให้ได้กำลังเยอะหรือเลือกจะประหยัด
ภายในห้องโดยสารหลักสามารถจุผู้โดยสารได้ระหว่าง 55-100 คน และเมื่อติดตั้งเตียงนอนเพื่อดัดแปลงเป็น Sleeper Aircraft จะสามารถติดตั้งได้ถึง 28 เตียงทั้งชั้นบนและชั้นล่าง นอกจากนั้นยังมีสิ่งบ่งบอกถึงความหรูหราและโอ่โถงจนอาจแทบจะเทียบได้กับเครื่องบินโดยสารบางรุ่นในปัจจุบันด้วยซ้ำ ซึ่งจากการที่ BOEING 377 มี 2 ชั้นจึงบันไดเวียนแบบก้นหอยที่นำไปสู่ห้อง Lounge ที่สามารถจุผู้โดยสารได้ถึง 14 คนในชั้นล่าง (Lower deck) ซึ่งอยู่เหนือปีกเล็กน้อย ประกอบกับมีห้องแต่งตัวของทั้งสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี และยังมีห้องครัวอยู่ที่ด้านท้ายอีกด้วย ด้วยเหตุผลของความหรูหราเหล่านี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทำให้ BOEING 377 ได้รับฉายาว่าเป็นโรงแรมลอยฟ้า สมกับชื่อ Stratocruiser
ภายในเครื่องบิน
ภายในห้องลูกเรือ
ภายใน Lower Deck หรือห้องโดยสารชั้นล่าง
แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะเพรียบพร้อมไปด้วยความสะดวกสบายและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยแต่ BOEING 377 ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการขาย เนื่องจากราคาค่าตัวที่แพงเกินไปถึง 1.7 ล้านดอลลาร์ แต่คู่แข่งอย่าง DC-6 หรือ Lockheed Constellation กลับขายในราคา 1 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถูกกว่าเกือบเท่าตัว ประกอบกับความจุจุผู้โดยสารได้เท่าๆกัน บินได้ระยะทางใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าคู่แข่งและความยุ่งยากในการซ่อมบำรุงของเครื่องยนต์ ทำให้ BOEING 377 ต้องปิดสายการผลิตทั้งที่มีขายได้แค่ 55 ลำในขณะที่คู่แข่งอย่าง DC-6B กลับมียอดขายถึง 175 ลำ
สำหรับการนำไป Modify ต่อจนเป็นเครื่องบินที่มีรูปทรงประหลาดแบบหนึ่งของโลกโดยบริษัท AERO SPACE LINES Corp. นั่นคือ Model 377-PG เพื่อเป็นเครื่องบินที่ใช้ในการขนส่งแบบพิเศษ เช่น ชิ้นส่วนอวกาศยานจากโรงานผลิตไปยัง Test Site ที่แหลมคาร์เวอนารัล รัฐฟลอริด้า, สินค้าขนาดใหญ่มากที่ไม่สามารถขนส่งทางเรือหรือรถไฟได้ เป็นต้น ซึ่งการนำเอา Boeing 377 Stratocruiser มาพัฒนาต่อเพิ่มเติมก็สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีในด้านของความประหยัดต้นทุนด้านเวลา Model 377-PG นี้มีรูปร่างประหลาดต่างจาก Stratocruiser ตรงที่มีการต่อเติม Superstructure รอบๆลำตัวด้านบน ทำให้มีชื่อเล่นเรียกว่า PG – Pregnant Guppy
ต่อมามี Version ใหม่ต่อจาก Model 377-PG ชื่อ Model 201 ซึ่งบริษัท AERO SPACE LINES Corp. ได้ขายให้ AIRBUS Industrie จากฝรั่งเศส (ในสมัยนั้น) จนกลายมาเป็นชื่อที่เราคุ้นเคยกันดีคือ “Super Guppy” นั่นเอง AIRBUS ได้ใช้ขนส่งชิ้นส่วนเครื่องบินของ AIRBUS เองจากประเทศต่างๆในยุโรปเข้าสู่เมือง Toulouse ประเทศฝรั่งเศส เพื่อการประกอบขั้นสุดท้าย และถึงแม้มันจะไม่ได้เกิดมาจาก BOEING โดยตรง แต่ก็ใช้ชิ้นส่วนหลักจาก BOEING และเจ้า Super Guppy นี้เองก็ทำให้ AIRBUS ผงาดเป็นคู่แข่งกับ BOEING เต็มตัว
Model 377-PG Pregnant Guppy ที่พัฒนาโดย AERO SPACE LINES Corp.
Super Guppy ที่กลายเป็น Airlift ของ AIRBUS INDUSTRIE
ภาพการขนส่งชิ้นส่วนขนาดใหญ่โดยใช้ Super Guppy
คุณลักษณะและสมรรถนะของ BOEING 377
ประเภท : เครื่องบินขนส่งขนาดพิสัย ระยะปานกลาง ถึง ระยะไกล
ความจุ : ผู้โดยสารรวมพนักงานต้อนรับ 55-100 คน และลูกเรืออีก 5 คน
เครื่องยนต์ : Pratt&Whittney P&W R-4360 Double Wsap, 3,500 แรงม้า จำนวน 4 เครื่องยนต์
เพดานบินเดินทาง : 32,000 ft
ความเร็วสูงสุด : 375 mph
ความเร็วเดินทาง : 320 mph ที่ 1,900 แรงม้าต่อเครื่องยนต์ ที่ความสูง 25,000 ft
พิสัย : 4,200 ไมล์ ด้วยเชื้อเพลิงเต็มถัง
น้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุด : 148,000 lbs
มิติ : ปีกกว้าง 141 ฟุต 3 นิ้ว, ลำตัวยาว 110 ฟุต 4 นิ้ว, สูง 38 ฟุต 3 นิ้ว
ลูกเรือ : นักบิน 2 คน, Flight Engineer 1 คน, Navigator 1 คน,
เอกสารอ้างอิง - BOEING Aircraft since 1916, Peter M Bowers และ Boeing Startocruiser Pilot's Manaul, Air to Air Simulations
COPYRIGHT©2010 BY CessnaPilot, All Rights Reserved
เรียบเรียงโดย CessnaPilot และ
บุปผาชน – AERO Engineering, KASETSART University
Flight Dispatcher-42, CIVIL AVIATION TRAINING CENTER
Aquarius_airforceman@hotmail.com